แชร์

เคล็ดลับปลูกมันสำปะหลังแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ หัวใหญ่ น้ำหนักดี

อัพเดทล่าสุด: 2 พ.ค. 2025
130 ผู้เข้าชม

เคล็ดลับปลูก มันสำปะหลัง แบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้หัวใหญ่ น้ำหนักดี

มันสำปะหลัง เมื่อปลูกไปนาน ๆ ชาวเกษตรกรอาจสังเกตได้ว่าผลผลิตที่ได้นั้นลดลง ทำให้ปริมาณรายได้ลดลงตามไปด้วย แล้วจะทำยังไงให้สามารถปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเยอะ หัวใหญ่ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง มีปริมาณผลผลิตไปขายและได้กำไรกลับมาเยอะบ้าง?

บทความนี้ CMT จะมาแชร์เคล็ดลับปลูกมันสำปะหลัง พร้อมวิธีการเลือกพันธุ์และสูตรปุ๋ยที่จะทำให้มันสำปะหลังในไร่ของพี่น้องชาวเกษตรกรทุกคนออกมาหัวใหญ่ น้ำหนักดี มีคุณภาพพร้อมขายได้กำไรคุ้มค่าแรงกัน

ทำไมเกษตรกรรุ่นใหม่ถึงหันมาปลูกมันสำปะหลัง

สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เพิ่งมาสนใจการทำสวนและงานเกษตรนั้น มันสำปะหลังถือเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของคนรุ่นใหม่เลยทีเดียว เนื่องจากความต้องการของตลาดมันสำปะหลังค่อนข้างสูงจากการที่เป็นส่วนประกอบตั้งต้นของอาหาร เช่น แป้งมันสำปะหลังดิบ แป้งมันสำปะหลังแปร หรือมันเส้น โดยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 3.0 - 5.0 % ต่อปี

มันสำปะหลังยังเป็นพืชที่เหมาะสำหรับการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ มีต้นทุนต่ำ ได้ผลตอบแทนดีจากราคารับซื้อผลหัวมันสดค่อนข้างสูง แต่ด้วยปริมาณผลผลิตที่ได้น้อยลง ทำให้รายได้เกษตรกรในการขายหัวมันลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้บทความนี้ CMT จะมาแนะนำเทคนิคการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเยอะ เพื่อรายได้พี่น้องเกษตรกรที่มั่นคงและยั่งยืนกัน

การเตรียมดินปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูง

ขั้นตอนในการปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญนั่นคือ ดิน เพราะสาเหตุที่ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตน้อยมาจากการที่ดินเสื่อม แข็ง มีความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอต่อการปลูกมัน และถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะทำให้แนวโน้มผลผลิตลดลงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย

ดังนั้นในการปลูกมันสำปะหลัง พี่น้องเกษตรกรควรเตรียมดินก่อนลงปลูก ดังนี้

ไถพรวนดิน

การไถพรวนดินเป็นขั้นตอนที่พี่น้องเกษตรกรทราบดีอยู่แล้วว่าต้องพลิกหน้าดินให้ละเอียดร่วนซุย และเป็นการกำจัดวัชพืชที่อยู่บนดินไปในตัว แต่ลำพังการพลิกหน้าดินด้วยจอบหรือไถดะอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ ควรใช้ผานพรวนเพื่อบดย่อยดินให้ละเอียดเล็กลง ดินฟู ช่วยให้อุ้มน้ำได้ดี และกำจัดวัชพืชที่ยังหลงเหลืออยู่จากการไถดะครั้งแรกด้วย

นอกจากไถพรวนดินแล้ว การยกร่องมันด้วยผานยกร่องก็สำคัญ เพราะหากมีการยกร่องปลูกมันสำปะหลัง จะช่วยให้ดินเก็บความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น และช่วยระบายน้ำส่วนเกินไม่ให้หัวและรากมันถูกแช่ไว้ในน้ำ จนทำลายผลผลิตนั่นเอง

วิเคราะห์ดินและปรับค่า pH

การจะปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชใด ๆ ก็ตาม รวมถึงมันสำปะหลัง พี่น้องเกษตรกรควรที่จะรู้ว่าดินในแปลงนั้นเกิดปัญหาด้านไหนบ้าง เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยพี่น้องชาวสวนสามารถเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ได้ที่ สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 

ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอก เพิ่มธาตุอาหารในดินและการดูดซึมแร่ธาตุ

การใส่ปุ๋ยทั้งก่อนและหลังปลูกมันสำปะหลังจะช่วยเพิ่มโอกาสการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น โดยก่อนปลูก แนะนำให้ใช้ปุ๋ยตรากระต่าย หรือตรามงกุฎ สูตร 15-15-15 มารองพื้น ช่วยเพิ่มการบำรุงพืช ส่วนในช่วงที่ปลูกมันสำปะหลังไปแล้ว 4-5 เดือน หรือช่วงระเบิดหัวมัน ควรใช้ปุ๋ยสูตร 14-7-35 เพื่อเพิ่มโอกาสได้มันสำปะหลังหัวใหญ่จากการสะสมอาหารได้เยอะขึ้นนั่นเอง

การเลือกพันธุ์และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสม

เพื่อให้ได้ผลผลิตปริมาณมาก ลดโอกาสการเกิดโรค พี่น้องเกษตรกรควรเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังตามปัจจัยดังนี้

เลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่หัวใหญ่ น้ำหนักดี

พันธุ์มันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตสูง มีความทนทานต่อโรคใบด่าง คือ พันธุ์ระยอง 81 แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละพันธุ์ก็มีความเหมาะสมต่อการปลูกในพื้นที่แตกต่างกัน โดยระยอง 81 จะเหมาะกับการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วิธีการเลือกท่อนพันธุ์ให้แข็งแรง

เลือกท่อนพันธุ์ยังไงให้แข็งแรง? ถึงแม้ว่าการฉีดสารจะช่วยป้องกันแมลงและโรคได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีต้นทุนสูงและไม่ยั่งยืน อาจทำให้ราคาขายที่ได้มาไม่คุ้มค่าเหนื่อยได้ ดังนั้นแนะนำให้พี่น้องเกษตรกร คัดท่อนพันธุ์ก่อนลงปลูก หากว่ามีโรคหรือไวรัสใบด่างติดมาไม่ควรลงปลูกโดยเด็ดขาด ให้คัดทิ้งทันที วิธีนี้จะช่วยให้ลดการแพร่กระจายของโรคใบด่างได้ดีขึ้น

การเตรียมและตัดท่อนพันธุ์อย่างถูกวิธี

ในการเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสำหรับการลงปลูก ควรเลือกท่อนพันธุ์ที่มีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีจำนวนตาถี่มากกว่า 5 ตา อายุ 10-12 เดือน ตัดมาแล้วไม่เกิน 15 วัน ท่อนพันธุ์ที่มีลักษณะข้างต้นนี้จะมีโอกาสงอกสูงกว่าลักษณะอื่น ๆ และทางเรายังขอแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรพ่นสารป้องกันเพลี้ยแป้ง ปลวก เพลี้ยไฟ รวมถึงยาเร่งรากเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคก่อนลงปลูกมันสำปะหลังได้นั่นเอง

เทคนิคการปลูกมันสำปะหลัง

มาถึงเทคนิควิธีการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเยอะ น้ำหนักดี จะมีปัจจัยที่พี่น้องชาวสวนควรคำนึงถึงนั่นคือ ระยะห่างระหว่างต้น การยกร่อง และความลึกในการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจัยแต่ละข้อมีรายละเอียดวิธีการดังนี้

1. ระยะห่างระหว่างต้นและแถว

ระยะห่างระหว่างร่องที่เหมาะสมคือ 100-120 เซนติเมตร ปลูกต้นมันที่ระยะห่าง 60-90 เซนติเมตร เพื่อให้มันแต่ละต้นได้รับแสงอย่างทั่วถึงเพียงพอ

2. การปลูกแบบยกร่อง vs แบบราบ

การยกร่องปลูกมันสำปะหลังจะช่วยให้ดินกักเก็บและระบายน้ำได้ดีกว่าแบบราบ โดยควรทำปลายร่องให้เป็นมุมตัดเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู เพื่อไม่ให้หัวมันโผล่พ้นดินมาด้านข้าง และช่วยให้วางสายน้ำหยดได้สม่ำเสมออีกด้วย

3. ปลูกมันสำปะหลังในความลึกที่เหมาะสม

ความลึกในการปลูกมันสำปะหลังที่เหมาะสมคือ ปักตั้งตรง ความลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร จะทำให้ต้นมันมีอัตราการงอกดี เพราะหากลงลึกเกินไปจะทำให้ค่าความชื้นไม่เพียงพอ และควรตรวจสอบอัตราการงอกเพื่อที่จะปลูกซ่อมได้ทันเวลา

สูตรปุ๋ยเร่งหัวมันสำปะหลังให้ใหญ่และน้ำหนักดี

จากข้อมูลด้านบน เรามีพูดถึงเรื่องการใส่ปุ๋ยไปอย่างคร่าว ๆ บ้างแล้ว เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรใช้ปุ๋ยเพิ่มผลผลิตหัวมันได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยตามสูตรดังต่อไปนี้

ใช้ปุ๋ยรองพื้น ปุ๋ยพ่นทางใบ และใส่ปุ๋ยให้ถูกช่วงเวลา

  • ปุ๋ยรองพื้น คือปุ๋ยที่จะใส่ก่อนลงท่อนพันธุ์ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหาร
  • ปุ๋ยพ่นทางใบ ช่วง 1-3 เดือนแรก แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 ผสมกันในอัตราส่วน 1:1 ปริมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งให้ต้นและใบมีความแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมเข้าสู่ระยะลงหัว
  • ระยะลงหัว ช่วง 4-5 เดือน จะใช้เป็นปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 ผสมกันในอัตราส่วน 1:3 ปริมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ เช่นเดิม เพื่อระเบิดหัวมันให้สะสมอาหารได้มากขึ้น และมีอัตราการสะสมแป้งสูง

การใช้สารเร่งหัว/ฮอร์โมนพืช

การใช้สารเร่งหัวหรือฮอร์โมนพืชก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น แต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่อย่างนั้นอาจทำให้ใบร่วง หรือผลผลิตเสียหายหากยังไม่พร้อมเก็บเกี่ยว

การดูแลมันสำปะหลังระหว่างการเจริญเติบโต

การดูแลมันสำปะหลังระหว่างการเจริญเติบโตก็เป็นสิ่งที่พี่น้องชาวเกษตรกรไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการดูแลมันสำปะหลังช่วงฝนแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของหัวมันมากที่สุด โดยควรให้น้ำด้วย ระบบน้ำหยด ในปริมาณที่เหมาะสม ประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อแถวร่องมัน และตรวจสอบความชื้นของดินว่าเพียงพอหรือไม่ ไม่ควรให้ดินแห้งจนหน้าดินแน่นทึบ เพราะจะทำให้อากาศระบายได้ไม่ดี

นอกจากนี้ในระหว่างการปลูกมันสำปะหลังอาจมีวัชพืชขึ้นมารบกวนและแย่งสารอาหารไปได้ ในช่วงนี้แนะนำให้พี่น้องเกษตรกรทำการถางวัชพืชออกแทนการใช้สารเคมี และฉีดสารป้องกันโรคช่วงก่อนมันสำปะหลังมีอายุ 4-5 เดือน

เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังอย่างไรให้ได้ราคาดี

สำหรับการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชหัวลงดินนั้น อาจทำให้ผลมันสดเสียหายในระหว่างการขุดรอบหัวมันได้ ดังนั้นจึงได้มีอุปกรณ์การเกษตรอย่าง ผานขุดมัน มาใช้เก็บหัวมันโดยไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ซึ่งกระบวนการทำงานของผานขุดมัน คือติดเข้ากับรถแทรกเตอร์ ตัวผานจะทำหน้าที่ขุดดินและพลิกหัวมันขึ้นมา ทำให้พี่น้องเกษตรกรเก็บหัวมันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาขุดดินรอบ ๆ ต้นมัน และเก็บผลผลิตได้รวดเร็วอีกด้วย โดยระยะเวลาเก็บหัวมันที่เหมาะสมคือ ช่วงมันสำปะหลังมีอายุประมาณ 10-12 เดือน

หลังจากเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแล้ว ก็ต้องมาทำการคัดแยกหัวมันว่าสมบูรณ์ดีไหม  รวมถึงตัดเหง้าให้เรียบร้อยก่อนส่งขายเพื่อให้ได้ราคาดี

อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม : ผานขุดมัน ตัวช่วยขุดมันสำปะหลัง ช่วยเบาแรงเกษตรกรและเพิ่มผลผลิต

ข้อควรระวังในการปลูกมันสำปะหลัง

สำหรับการปลูกหัวมันให้ได้มันสำปะหลังน้ำหนักดี หัวใหญ่ เปอร์เซ็นต์แป้งสูง พี่น้องชาวเกษตรกรอย่าลืมข้อควรระวังที่จะทำให้ได้ผลผลิตได้ไม่เยอะเท่าที่ต้องการ และอาจทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่คุ้มที่เหนื่อยลงแรงไปอีกด้วย ซึ่งข้อควรระวังในการปลูกมันสำปะหลังที่พี่น้องเกษตรกรควรรู้ มีดังนี้

  • ปลูกแน่นเกินไป การปลูกมันในระยะห่างที่ถี่เกินไปอาจทำให้ต้นมันไม่ได้รับแสงอย่างเพียงพอ และไม่ทั่วถึง ทำให้สังเคราะห์แสงได้ไม่ดี
  • ใช้ท่อนพันธุ์ไม่ดี โดยเฉพาะท่อนพันธุ์ที่มีรอยโรค หรือใบด่าง จะทำให้ระหว่างปลูกมีโอกาสแพร่กระจายโรคใบด่าง ใบไหม้ ลดการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังได้
  • ใส่ปุ๋ยไม่สม่ำเสมอ ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มันสำปะหลังได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต มีผลต่อปริมาณผลผลิต

สรุปเคล็ดลับปลูกมันสำปะหลังแบบเกษตรกรรุ่นใหม่

การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตดี หัวใหญ่ น้ำหนักดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงนั้นต้องอาศัยความพิถีพิถันจากพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งเทคนิคที่แนะนำมาก ๆ คือการเตรียมดิน การเลือกท่อนพันธุ์ที่แข็งแรง และการผสมปุ๋ยบำรุงดิน เพิ่มสารอาหาร วิธีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรได้ผลผลิตมันสำปะหลังที่มากขึ้นได้

นอกจากนี้การใช้เครื่องมือเสริมที่จะช่วยลดแรงและลดเวลาการทำงานเกษตรยังทำให้การเตรียมดินมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มความแม่นยำในการได้ผลผลิตมากขึ้น ลดต้นทุนแรงงานและประหยัดเวลาไปได้เยอะ ทั้งยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะแนวโน้มการปลูกมันสำปะหลังในไทยยังมีโอกาสเติบโตอยู่เรื่อย ๆ การที่ใช้อุปกรณ์ที่จะทำให้ปริมาณผลผลิตมากขึ้น ก็เป็นการลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง

หากพี่น้องเกษตรกรกำลังมองหาอุปกรณ์การเกษตรคุณภาพดี เพื่อใช้งานในการเกษตรมันสำปะหลัง CMT คือผู้ออกแบบและผลิตเครื่องมือเกษตรกรรม ผานขุดมันจากเหล็กโบรอนคุณภาพสูง แข็งแรง ทนทาน ไม่ตัดหัวมัน เพิ่มปริมาณผลผลิตที่สมบูรณ์เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างมั่นคง

สนใจผลิตภัณฑ์ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านช่องทาง


บทความที่เกี่ยวข้อง
เกษตรกรต้องรู้! เหล็กโบรอน vs เหล็กคาร์บอน เลือกแบบไหนดี? เจาะลึกข้อแตกต่างก่อนเลือกซื้อจานไถ
จานไถ เลือกวัสดุแบบไหนดี แนะนำข้อแตกต่างระหว่างเหล็กโบรอน และเหล็กคาร์บอน แบบไหนแข็งแรงทนทาน อ่านข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน
เทคนิคการใช้น้ำหยดให้อ้อยงามในหน้าแล้ง เพิ่มผลผลิตเต็มไร่
เทคนิคปลูกอ้อยหน้าแล้งด้วย “ระบบน้ำหยด” วิธีที่จะช่วยให้อ้อยนั้นเติบโตผ่านหน้าร้อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนแรงงานต่ำ อ้อยสมบูรณ์ ได้ผลผลิตสูง
ปุ๋ยอินทรีย์ VS ปุ๋ยเคมี ต่างกันยังไง? ใช้อย่างไรให้เหมาะ?
แนะนำและอธิบายความแตกต่างระหว่างปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี เลือกยังไงให้ดี มีข้อควรระวังในเรื่องของการใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับพืชอย่างไรบ้าง พร้อมเคล็ดลับการใช้ปุ๋ย
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy